เรียกได้ว่า กระแสยังคงแรงอย่างต่อเนื่อง สำหรับละคร คุณพี่เจ้าขาดิฉันเป็นห่านมิใช่หงส์ ที่ได้พระนางเคมีเคใจสุดฟินฮากระจายอย่าง โบว์-เมลดา และ ภณ-ณวัสน์ จับมือกัน พาเรตติ้งพุ่งกระฉูด นอกจากความน่ารักและความฮาแบบสุขล้นแล้ว ยังใส่เรื่องราวในประวัติศาสตร์ เกร็ดข้อมูล ความรู้ในอดีตที่หลายคนอาจไม่ค่อยทราบมาในเรื่องด้วย
โดย ในโลกโซเชียลก็กำลังถกสนั่นถึง จีวรพระ ว่าเหตุใดถึงมีลวดลายดอกไม้เช่นนี้
ทางข้อมูลจาก ศิลปวัฒนธรรม เผย ครั้งหนึ่ง พระสงฆ์ไทย เคยห่มจีวรที่มีลวดลายดอกไม้ หรือ จีวรลายดอกพิกุล โดยธรรมเนียมดังกล่าวพบมากในพระเถระชั้นผู้ใหญ่ ในหลักฐานภาพถ่ายร่วมสมัย รวมถึงธรรมเนียมการสร้างพระพุทธรูปครองจีวรลายดอก ซึ่งเป็นลักษณะเด่นประการหนึ่งของศิลปกรรมไทยสมัยรัตนโกสินทร์
จีวร คืออะไร จีวร คือ ส่วนหนึ่งของ ผ้ากาสาวพัสตร์ ที่แปลว่าผ้าย้อมด้วยน้ำฝาด (น้ำต้มจากเปลือก-เเก่นไม้) หรือที่คนไทยรู้จักกันในชื่อผ้าไตร เป็นผ้าที่พระสงฆ์ใช้นุ่งห่มตามหลักศาสนา ประกอบด้วยผ้า 3 ผืน ได้แก่
จีวร (อุตราสงค์) ใช้ห่มด้านนอก
สบง (อันตรวาสก) นุ่งห่มด้านล่าง
สังฆาฏิ สำหรับนุ่งซ้อนหรือพาดบ่า
การนุ่งห่มผ้าไตรถือเป็นข้อกำหนดที่พระพุทธเจ้าประทานอนุญาตไว้ตั้งแต่พุทธกาล เป็นเอกลักษณ์ของพระสงฆ์ในพุทธศาสนา ซึ่ง “พระสงฆ์ไทย” แต่โบราณก็รับรูปแบบดังกล่าวมาด้วย ดังปรากฏในศิลปกรรมของพระพุทธรูปสมัยทวารวดี ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 12-16
การห่มผ้าไตรยังเป็นหลักการสร้างรูปเคารพเนื่องในพุทธศาสนาและการนุ่งห่มของพระสงฆ์ไทยเรื่อยมา แม้รูปแบบการครองผ้าจะแตกต่างกันบ้างในแต่ละนิกาย ยุคสมัย และสกุลช่างทางศิลปะ แต่ปกติแล้ว ผ้าทั้ง 3 ผืน จะเป็นผ้าเรียบ ไม่มีลาย อย่างที่เราเห็นได้ทั่วไปในปัจจุบัน
ทำไมพระสงฆ์ไทยห่มจีวรลายดอกพิกุล
การห่ม จีวรลายดอกพิกุล นั้น เกิดขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) เนื่องจากราชสำนักมีธรรมเนียมการถวายผ้าจีวรที่มีลวดลายดอกไม้แด่พระเถระชั้นผู้ใหญ่ ดังปรากฏใน จดหมายเหตุบัญชีผ้าพระกฐินและผ้าไตร จ.ศ. ๑๑๘๗ ว่ากันว่า การถวายจีวรลายดอกอาจมีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาลแล้ว โดยพระพุทธเจ้าประทานอนุญาตเฉพาะลายดอกไม้ขนาดเล็ก สีสันไม่ฉูดฉาด หรือไม่เป็นลายแวววาว
จีวรลายดอก ที่นิยมถวายให้พระสงฆ์ในสมัยนั้น จะใช้ผ้าราคาสูงนำเข้าจากแคว้นเบงกอล ในอนุทวีปอินเดีย (ปัจจุบันคือ บังกลาเทศ) เป็นผ้าฝ้ายเนื้อบางละเอียด ทอเป็นลายดอกไม้-ดอกพิกุลขนาดเล็กทั้งผืน เรียกว่า ผ้าย่ำตะหนี่ (Jamdani-ภาษาเปอร์เซีย) หรือย่ำตานี/ย่านตานี นำมาตัดเย็บและย้อมน้ำฝาดตามพระวินัย ก่อนนำถวายพระสงฆ์
สมัยรัชกาลที่ 3 เป็นต้นมา ยังมีความนิยมสร้างพระพุทธรูปและพระพุทธสาวกให้นุ่งห่มจีวรลายดอกด้วย ซึ่งก็เป็นการถอดแบบมาจากการนุ่งห่มของพระสงฆ์สมัยนั้น มีการครองจีวรลายดอกหลายรูปแบบ ทั้งลายดอกพิกุล ลายใบเทศ และลายพุ่มข้าวบิณฑ์
อย่างไรก็ตาม เป็นไปได้ว่าธรรมเนียมการถวายผ้าแพรมีลายแด่พระพุทธรูป มีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 แล้ว เพียงแต่มานิยมแพร่หลายมากขึ้นสมัยรัชกาลที่ 3 จากธรรมเนียมการถวายจีวรลายดอกแก่พระสงฆ์นั่นเอง
ทำไมปัจจุบัน พระสงฆ์ไทยไม่ใส่จีวรลายดอกพิกุล
การถวายจีวรลายดอกแด่พระสงฆ์ เสื่อมความนิยมลงในสมัยรัชกาลที่ 4 เพื่อลดทอนความหรูหราฟุ่มเฟือย สอดคล้องกับพระราชนิยมในการสร้างพระพุทธรูปที่ได้เปลี่ยนไปในทางเสมือนจริงตามแนวสัจนิยม
เมื่อถึงสมัยรัชกาลที่ 5 มีเพียงพระเถระชั้นผู้ใหญ่บางรูปในกรุงเทพฯ เท่านั้น ที่ยังนิยมครองจีวรลายดอกพิกุลอยู่ แต่เรายังพบการสร้างพระพุทธรูปหรือพระพุทธสาวกที่ครอง จีวรลายดอก ในสกุลช่างราชสำนัก และงานพุทธศิลป์ตามวัดหลวงในพระบรมราชูปถัมภ์อยู่ ทั้งกลายเป็นอัตลักษณ์หนึ่งของศิลปกรรมสมัยรัตนโกสินทร์ เพราะไม่พบในงานศิลปกรรมสมัยอื่นของไทย