ใจหาย ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่อันดับ 3 ของประเทศ ปิดโรงงาน 7 แห่ง – เลิกจ้างพนักงาน 20,000 คนทั่วโลก หลังเผชิญภาวะขาดทุนหนัก
บริษัท นิสสัน มอเตอร์ (Nissan Motor) ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่อันดับ 3 ของญี่ปุ่น ประกาศแผนการปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ เพื่อลดต้นทุนและพลิกฟื้นธุรกิจ หลังเผชิญภาวะขาดทุนหนัก โดยจะ ปิดโรงงาน 7 แห่งจากทั้งหมด 17 แห่งทั่วโลก และ เลิกจ้างพนักงาน 20,000 คน หรือคิดเป็น 15% ของพนักงานทั้งหมด

ตามรายงานระบุว่า แผนดังกล่าวเป็นแนวทางใหม่ของ อีวาน เอสปิโนซา ประธานและซีอีโอคนใหม่ของนิสสัน ซึ่งเข้ารับตำแหน่งเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา โดยเขาระบุว่า บริษัทจะรวมสายการผลิตโรงงานในประเทศไทย และย้ายสายการผลิตจากอาร์เจนตินาไปยังบราซิล ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการประเมินโรงงานในประเทศอื่นๆ รวมถึงในญี่ปุ่นด้วย
แผนการฟื้นฟู ของนิสสันครั้งนี้ คล้ายกับในปี 2542 ที่บริษัทเคยปลดพนักงานถึง 21,000 คน และปิดโรงงานในญี่ปุ่น ท่ามกลางวิกฤตการเงินในขณะนั้น
- ผลประกอบการปีล่าสุด ขาดทุนสุทธิกว่า 6.7 แสนล้านเยน
การประกาศแผนปรับโครงสร้างเกิดขึ้นพร้อมกับการรายงานผลประกอบการปีงบประมาณ 2567 (สิ้นสุดมีนาคม 2568) ซึ่งนิสสันขาดทุนสุทธิสูงถึง 6.7 แสนล้านเยน (ประมาณ 150,000 ล้านบาท) แม้จะน้อยกว่าตัวเลขคาดการณ์เดิมที่ 7-7.5 แสนล้านเยนก็ตาม
ขณะที่ กำไรจากการดำเนินงานอยู่ที่เพียง 6.98 หมื่นล้านเยน ลดลงกว่า 88% จากปีก่อนหน้า และบริษัทจะ งดจ่ายเงินปันผล ต่อเนื่องเป็นปีที่สอง

ทั้งนี้ ในปีงบประมาณก่อน (2566) นิสสันเคยมีกำไรสุทธิถึง 4.26 แสนล้านเยน แต่ยอดขายที่ตกต่ำในตลาดสำคัญ เช่น สหรัฐและจีน รวมถึงรายการด้อยค่าทางบัญชีในอเมริกาเหนือ ละตินอเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่น เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ผลประกอบการทรุดหนักในปีล่าสุด
- มุ่งลดต้นทุน-ย้ายฐานการผลิต-เตรียมแผนใหม่ในจีนและอเมริกา
เอสปิโนซา ระบุว่า ปีงบประมาณนี้จะเป็น “ปีแห่งการเปลี่ยนผ่าน” โดยบริษัทมีเป้าหมายลด ต้นทุนคงที่ลง 5 แสนล้านเยน ภายในสิ้นปีงบประมาณ 2570 ผ่านการลดพนักงาน ปิดโรงงาน รวมถึงปรับปรุงห่วงโซ่อุปทาน และการออกแบบชิ้นส่วนยานยนต์ให้เรียบง่ายขึ้น
นิสสันยังพิจารณาการ ส่งออกรถยนต์ที่ผลิตในจีนไปยังประเทศอื่น ๆ เพื่อรับมือกับต้นทุนที่สูง และความเปลี่ยนแปลงของภาษีศุลกากรในแต่ละประเทศ

- ผลกระทบจากภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ
บริษัทเผยว่า กำลังเผชิญแรงกดดันจาก นโยบายภาษีนำเข้ารถยนต์ 25% ของสหรัฐฯ ซึ่งออกโดยอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ส่งผลกระทบโดยตรงต่อรถยนต์ที่ผลิตในญี่ปุ่นและเม็กซิโก โดยคาดว่า ผลกระทบทางลบจะสูงถึง 4.5 แสนล้านเยน ในปีนี้
เพื่อลดผลกระทบดังกล่าว นิสสันวางแผนเพิ่มการผลิตและจำหน่ายรถยนต์ที่ผลิตภายในสหรัฐฯ แทน
- ยุติแผนควบรวมกับฮอนด้า – เตรียมเปิดทางจับมือพันธมิตรใหม่
แม้ว่านักลงทุนหลายรายจะคาดหวังให้ นิสสันควบรวมกิจการกับฮอนด้า มอเตอร์ แต่บริษัทได้ยุติการเจรจาควบรวมกับฮอนด้าไปแล้วตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
อย่างไรก็ดี เอสปิโนซาเผยว่า บริษัทจะยังคง เปิดกว้างในการเจรจาความร่วมมือ โดยเฉพาะกับพันธมิตรนอกอุตสาหกรรมยานยนต์ เพื่อหาทางรอดในสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
