เปิดข้อมูล 20 วัตถุโบราณ”ไทย” ส่งคืนให้ “กัมพูชา” มีที่มาอย่างไร คมจบให้ ซึ่งดำเนินการส่งคืนในยุครัฐบาลนายกฯ”อุ๊งอิ๊งค์ แพทองธาร” ก่อนศาลรัฐธรรมนูญมีมติหยุดปฏิบัติหน้าที่
เรียกว่าประเด็นอะไรที่เกี่ยวโยงกับประเทศเพื่อนบ้านอย่าง “กัมพูชา” ในห้วงแห่งความอ่อนไหวนี้ก็พูดถึงไปหมด ล่าสุดในโลกออนไลน์มีการเปิดประเด็นที่รัฐบาลไทย ส่งมอบวัตถุโบราณคืนให้กับ “กัมพูชา” จำนวน 20 รายการ จนเป็นพูดถึงกัน ซึ่งวัตถุโบราณดังกล่าวนั้นมีที่มาแบบไหน “คมจบให้” มาเล่าให้ทราบกัน

จุดเริ่มต้นส่งมอบวัตถุโบราณคืน”กัมพูชา”
- ปี พ.ศ.2543 กรมศุลกากรได้ตรวจยึดโบราณวัตถุเขมรที่นำเข้าโดยผิดกฎหมายซึ่งนำเข้ามาจากประเทศสิงคโปร์ จำนวน 43 รายการ
- ต่อมากรมศิลปากรได้มีการตรวจสอบและมอบโบราณวัตถุคืนให้กัมพูชา ตามมติ ครม. (24 ก.พ.2552 และ 13 ม.ค.2558) แล้ว จำนวน 23 รายการ คงเหลือโบราณวัตถุอีก 20 รายการ
- ปี พ.ศ.2567 นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ครม. มีมติอนุมัติให้ กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) โดยกรมศิลปากร มอบโบราณวัตถุ 20 รายการ คืนให้ราชอาณาจักรกัมพูชา
“…เพื่อเป็นการปฏิบัติตามพันธกรณีของความตกลงทวิภาคีระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย และกัมพูชา รวมทั้งเพื่อเป็นการกระชับความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทยและกัมพูชา และแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยเป็นภาคีที่ยึดมั่นและปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดในความตกลงทวิภาคีอย่างเคร่งครัด…”
กรมศิลปากร
“กรมศิลปากร” ได้ตรวจสอบแล้วไม่สามารถยืนยันได้ว่าเป็นทรัพย์สินทางวัฒนธรรมที่มีถิ่นกำเนิดในกัมพูชาหรือไม่ เนื่องจากโบราณวัตถุทั้ง 20 รายการ เป็นโบราณวัตถุที่สามารถพบได้ในโบราณสถานทั้งในประเทศไทยและกัมพูชา
คณะรัฐมนตรีจึงมีมติเมื่อวันที่ 13 ม.ค. 2558 ให้กรมศิลปากรแจ้งผลการตรวจสอบดังกล่าวให้รัฐบาลกัมพูชาทราบ โดยหากรัฐบาลกัมพูชาประสงค์จะขอรับโบราณวัตถุดังกล่าวคืน ขอให้รัฐบาลกัมพูชาจัดส่งหลักฐานยืนยันเป็นลายลักษณ์อักษรว่าโบราณวัตถุทั้ง 20 รายการ เป็นโบราณวัตถุที่มีถิ่นกำเนิดในกัมพูชา

“…“รัฐบาลกัมพูชา” ได้ส่งคำร้องเพื่อขอรับคืนโบราณวัตถุทั้ง 20 รายการ พร้อมทั้งส่งเอกสารและหลักฐานยืนยันสิทธิเรียกร้องในโบราณวัตถุดังกล่าว ซึ่งจากการตรวจสอบของกรมศิลปากร ยืนยันได้ว่า โบราณวัตถุทั้ง 20 รายการ เป็นวัตถุที่มีแหล่งกำเนิดในกัมพูชา กระทรวงวัฒนธรรม จึงขออนุมัติมอบโบราณวัตถุ 20 รายการ คืนให้กัมพูชา…”

- 1. ส่วนองค์พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร 4 กร ศิลปะเขมรแบบบายน พุทธศตวรรษที่ 18
- 2. ส่วนองค์พระพุทธรูปยืน ศิลปะเขมรแบบบายน พุทธศตวรรษที่ 18
- 3. ส่วนองค์เทวรูป ศิลปะเขมรแบบบายน พุทธศตวรรษที่ 18
- 4. ส่วนองค์เทวรูป ศิลปะเขมรแบบนครวัด พุทธศตวรรษที่ 18
- 5. ส่วนองค์พระพุทธรูปปางประทานอภัย ศิลปะเขมรแบบบายน พุทธศตวรรษที่ 18
- 6. ส่วนองค์เทวรูป ศิลปะเขมรแบบนครวัด พุทธศตวรรษที่ 17
- 7. กลีบขนุนรูปทวารบาล ศิลปะเขมรแบบบาปวน – นครวัด พุทธศตวรรษที่ 16 – 17
- 8. กลีบขนุนรูปทวารบาล ศิลปะเขมรแบบบาปวน พุทธศตวรรษที่ 16
- 9. กลีบขนุนรูปทวารบาล ศิลปะเขมรแบบบาปวน พุทธศตวรรษที่ 16
- 10. กลีบขนุนรูปฤาษี ศิลปะเขมรแบบนครวัด พุทธศตวรรษที่ 17
- 11. กลีบขนุนรูปทวารบาล ศิลปะเขมรแบบบาปวนตอนปลาย – นครวัดตอนต้น พุทธศตวรรษที่ 16 – 17
- 12. กลีบขนุนรูปฤาษี ศิลปะเขมรแบบบาปวนตอนปลาย – นครวัดตอนต้น พุทธศตวรรษที่ 16 – 17
- 13. กลีบขนุนรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ ศิลปะเขมรแบบบาปวนตอนปลาย – นครวัดตอนต้น พุทธศตวรรษที่ 16 – 17
- 14. กลีบขนุนรูปฤาษี ศิลปะเขมรแบบบาปวน พุทธศตวรรษที่ 16
- 15. กลีบขนุนรูปพระยมทรงกระบือ ศิลปะเขมรแบบบาปวน พุทธศตวรรษที่ 16
- 16. กลีบขนุนรูปพระวรุณทรงหงส์ ศิลปะเขมรแบบบาปวน พุทธศตวรรษที่ 16
- 17. นาคปักรูปครุฑยุดนาค ศิลปะเขมรแบบบาปวนตอนปลาย – นครวัดตอนต้น พุทธศตวรรษที่ 16 – 17
- 18. นาคปักรูปครุฑยุดนาค ศิลปะเขมรแบบบาปวนตอนปลาย – นครวัดตอนต้น พุทธศตวรรษที่ 16 – 17
- 19. กลีบขนุนรูปเทพธิดายืนอยู่ในซุ้มใบระกา ศิลปะเขมรแบบบาปวนตอนปลาย – นครวัดตอนต้น พุทธศตวรรษที่ 16 – 17
- 20. กลีบขนุนรูปเทพธิดายืนอยู่ในซุ้มใบระกา ศิลปะเขมรแบบบาปวนตอนปลาย – นครวัดตอนต้น พุทธศตวรรษที่ 16 – 17

ทั้งนี้ 25 เมษายน 2568 เว็บไซต์เนชั่นทีวี ได้อัปเดตข้อมูลว่า “โฆษกรัฐบาล ได้ส่งข้อความชี้แจงของเจ้าหน้าที่กรมศิลปากร มายังผู้สื่อข่าวเนชั่นทีวี ระบุว่า
“ภายหลังมติ ครม. เมื่อปี 2567 ให้ส่งมอบวัตถุโบราณ 20 ชิ้นที่เหลือ ซึ่งพิสูจน์ได้แล้วว่าเป็นของกัมพูชา ให้กับทางกัมพูชานั้น ทางกระทรวงวัฒนธรรมของทั้งสองประเทศได้ประสานงานกันเพื่อเตรียมการด้าน logistics ของการส่งมอบ ซึ่งจะเป็นการส่งมอบทางบก ผ่านไปทางเมืองเสียมราฐ ในชั้นนี้คาดว่าจะเป็นช่วงเดือน ก.ค. 2568”
