ความดันโลหิตสูงเป็นโรคร้ายแรง โดยเฉพาะในช่วงเช้าที่ระดับความดันอาจพุ่งสูงกะทันหัน เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด แพทย์แนะนำวิธีจัดการความดันโลหิตในช่วงเช้า เพื่อช่วยรักษาสุขภาพและลดความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนเกี่ยวกับหัวใจ
เว็บไซต์ SOHA รายงานเรื่องราวของชายชาวจีน คุณจาง นักวิ่งรุ่นเก๋า ที่ตื่นตี 5 เตรียมตัวพร้อมออกไปพิชิตเส้นทางวิ่งที่คุ้นเคยทุกเช้า เขาตื่นเวลาเดิม ดื่มน้ำต้มสุกที่เย็นแล้ว 1 แก้ว ก่อนจะวิ่ง 2 รอบ รอบชุมชน
แต่เมื่อไม่นานมานี้ เขาเริ่มรู้สึกผิดปกติ หลังกลับจากวิ่งตอนเช้า เขามักเวียนศีรษะ และมีครั้งหนึ่งเกือบล้ม เพื่อความสบายใจ เขาตัดสินใจไปตรวจสุขภาพ
ที่คลินิก หมอหลี่ พบว่าความดันโลหิตของคุณจางสูงเกินปกติ เมื่อสอบถามถึงพฤติกรรมในช่วงเช้า คุณจาง เล่าว่า เขามักดื่มน้ำต้มสุกเย็นทันทีหลังตื่นนอนก่อนออกไปวิ่ง
หมอหลี่ อธิบายว่า แม้การตื่นเช้าและออกกำลังกายจะดีต่อสุขภาพ แต่สำหรับผู้ที่มีภาวะความดันโลหิตสูง พฤติกรรมบางอย่างอาจทำให้ความดันโลหิตแปรปรวนมากขึ้น
พร้อมแนะนำให้คุณจางปรับเปลี่ยนบางนิสัยเพื่อลดผลกระทบด้านลบต่อสุขภาพ พร้อมย้ำถึงความสำคัญของการเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างการตื่นเช้ากับความดันโลหิตสูง
ความดันโลหิตสูงกับช่วงเวลาเสี่ยงในยามเช้า
หมอหลี่เปิดตำราทางการแพทย์ ชี้ไปที่หัวข้อ “ปรากฏการณ์ความดันโลหิตในช่วงเช้า” พร้อมอธิบายว่า ช่วงเช้าเป็นเวลาที่เสี่ยงที่สุดในแต่ละวันสำหรับผู้ที่มีภาวะความดันโลหิตสูง
ตามหลักสรีรวิทยา ระดับความดันโลหิตของมนุษย์จะเปลี่ยนแปลงตลอดวัน โดยปกติจะอยู่ในระดับต่ำสุดระหว่างเวลา ตี 4-6 โมงเช้า เมื่อร่างกายตื่นตัวและเริ่มเคลื่อนไหว ความดันโลหิตจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
สำหรับคนทั่วไป การเปลี่ยนแปลงนี้ไม่ส่งผลกระทบร้ายแรง แต่ในผู้ป่วยความดันโลหิตสูง ซึ่งหลอดเลือดขาดความยืดหยุ่นและมีภาวะหลอดเลือดแข็งตัวอย่างรุนแรง การเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของความดันโลหิตในช่วงเช้าอาจก่อให้เกิดอันตรายร้ายแรงต่อสุขภาพ
ดังนั้นช่วงเวลา 6-10 โมงเช้าถือเป็นช่วงวิกฤติ หากผู้ป่วยความดันโลหิตสูงไม่ระมัดระวัง อาจเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนรุนแรง เช่น หัวใจวายหรือโรคหลอดเลือดสมอง
งานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ รวมถึงรายงานในวารสาร The Lancet ยังชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์ที่ชัดเจนระหว่างการเพิ่มขึ้นของความดันโลหิตในช่วงเช้ากับอัตราการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด
3 พฤติกรรมอันตรายสำหรับผู้ป่วยความดันโลหิตสูงในช่วงเช้า
หมอหลี่ได้แนะนำ 3 พฤติกรรมที่ผู้ป่วยความดันโลหิตสูงควรหลีกเลี่ยงในตอนเช้าเพื่อปกป้องสุขภาพ
1. การลุกขึ้นเร็วเกินไปหลังตื่นนอน
เมื่อเพิ่งตื่นนอน ร่างกายยังปรับตัวไม่ทันกับการเปลี่ยนแปลง หากรีบลุกขึ้นทันที อาจทำให้หัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตพุ่งสูง และเกิดอาการเวียนศีรษะหรือหมดสติได้ เพื่อป้องกัน ควรนอนอยู่บนเตียงสักครู่ ขยับแขนขาเบา ๆ แล้วค่อย ๆ ลุกขึ้นนั่งและยืน วิธีนี้ช่วยลดความเสี่ยงและรักษาความดันโลหิตให้คงที่
2. การดื่มน้ำเย็นขณะท้องว่าง
การดื่มน้ำเย็นทันทีหลังตื่นอาจกระตุ้นระบบย่อยอาหาร ทำให้หลอดเลือดหดตัว และความดันโลหิตเปลี่ยนแปลง นอกจากนี้ ในตอนเช้าเลือดมักมีความหนืด การดื่มน้ำเย็นอาจเพิ่มภาระให้หัวใจ แนะนำให้ดื่มน้ำอุ่นประมาณ 200 มล. เพื่อช่วยการไหลเวียนของเลือด ลดความหนืดของเลือด และทำให้ความดันโลหิตคงที่
3. การออกกำลังกายหนักขณะท้องว่าง
การออกกำลังกายที่ใช้แรงมากในตอนเช้าสามารถกระตุ้นระบบประสาทซิมพาเทติก ทำให้ความดันโลหิตพุ่งสูง และเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนทางหัวใจ ควรเลือกกิจกรรมเบา ๆ เช่น การเดินเล่นหรือรำไทเก็ก และควรออกกำลังกายหลังอาหารเช้าอย่างน้อย 30 นาที เพื่อความปลอดภัยและสุขภาพที่ดี
คำแนะนำจากคุณหมอ
หลังจากได้รับคำอธิบายจากหมอหลี่ คุณจางตั้งใจจดจำคำแนะนำทุกข้ออย่างละเอียด คุณหมอยังเน้นย้ำว่า “นอกจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมแล้ว ควรใส่ใจกับการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ลดการบริโภคอาหารเค็ม เพิ่มผักและผลไม้ในมื้ออาหาร เพื่อช่วยควบคุมความดันโลหิตให้ดีขึ้น” คุณจางพยักหน้าอย่างเข้าใจ พร้อมรู้สึกมั่นใจมากขึ้นในการดูแลตัวเอง
หมอหลี่ยังแนะนำให้คุณจางวัดความดันโลหิตทุกเช้าหลังตื่นนอน เพื่อสังเกตความเปลี่ยนแปลงได้ทันที “การวัดความดันเป็นประจำช่วยให้ตรวจสอบสุขภาพและดำเนินการป้องกันหรือรักษาได้ทันเวลา”
คุณจางรู้สึกสบายใจขึ้นหลังได้รับคำแนะนำอันมีค่าจากแพทย์ แม้ว่าเขารู้ว่าการปรับเปลี่ยนนิสัยไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เขาก็ตั้งใจที่จะเปลี่ยนแปลงเพื่อรักษาสุขภาพ โดยเฉพาะนิสัยในช่วงเช้า
ความสำคัญของการควบคุมความดันโลหิตในช่วงเช้า
หมอหลี่ได้แบ่งปันข้อมูลสำคัญจากงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Hypertension ปี 2020 ซึ่งระบุว่า หากความดันโลหิตในตอนเช้าเพิ่มขึ้น 10 มม.ปรอท ความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดจะเพิ่มขึ้นถึง 13% อย่างไรก็ตาม หากผู้ป่วยรักษาวิถีชีวิตที่ดีและรับประทานยาตามคำแนะนำ ความเสี่ยงเหล่านี้สามารถลดลงได้ถึง 30%
เมื่อได้ยินเช่นนั้น คุณจางรู้สึกมีกำลังใจมากขึ้น และเข้าใจถึงความสำคัญของการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในช่วงเช้า เขากล่าวว่า “วันนี้ผมได้เรียนรู้อะไรที่มีประโยชน์มากจริง ๆ ต่อไปตอนเช้าผมจะเปลี่ยนจากการวิ่งเป็นการเดิน ดื่มน้ำอุ่นแทนน้ำเย็น และทำทุกอย่างอย่างช้า ๆ หวังว่าความดันโลหิตของผมจะคงที่เหมือนที่คุณหมอบอก”
หมอหลี่ส่งยิ้มและตบไหล่คุณจางเบา ๆ พร้อมให้กำลังใจว่า “หากคุณทำตามคำแนะนำอย่างสม่ำเสมอ ความดันโลหิตของคุณจะคงที่และควบคุมได้ดีขึ้นอย่างแน่นอน”